แต่ละภาคของประเทศไทย มีประเพณีและวัฒนธรรมของแต่ละภาคแตกต่างกันออกไป ภาคเหนือ เป็นภูมิภาคที่อยู่ด้านบนสุดของไทย บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ เดิมเป็นที่ตั้งของอาณาจักรล้านนา และมีภาษาถิ่นเป็นคำเมือง ในพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน และบางส่วนของจังหวัดอุตรดิตถ์ เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา ทำให้เกิดลักษณะของตัวอักษรและสำเนียงเฉพาะถิ่น เรียกว่าอักษรธรรมล้านนา (ตั๋วเมือง) และภาษาถิ่นพายัพ (กำเมือง) วันนี้แอดจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับประเพณีและวัฒนธรรมที่สำคัญของภาคเหนือกัน
ภาคเหนือมี 17 จังหวัด แบ่งออกเป็น ภาคเหนือตอนบน และภาคเหนือตอนล่าง ดังนี้
ภาคเหนือตอนบน มีทั้งหมด 9 จังหวัด ได้แก่
- จังหวัดเชียงราย
- จังหวัดเชียงใหม่
- จังหวัดน่าน
- จังหวัดพะเยา
- จังหวัดแพร่
- จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- จังหวัดลำปาง
- จังหวัดลำพูน
- จังหวัดอุตรดิตถ์
ภาคเหนือตอนล่าง มีทั้งหมด 8 จังหวัด ได้แก่
- จังหวัดตาก
- จังหวัดพิษณุโลก
- จังหวัดสุโขทัย
- จังหวัดเพชรบูรณ์
- จังหวัดพิจิตร
- จังหวัดกำแพงเพชร
- จังหวัดนครสวรรค์
- จังหวัดอุทัยธานี
วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคเหนือ
วัฒนธรรมในท้องถิ่นของภาคเหนือ แบ่งออกได้ ดังนี้
1.วัฒนธรรมทางภาษาถิ่น ชาวไทยทางภาคเหนือมีภาษาล้านนาที่นุ่มนวลไพเราะ ซึ่งมีภาษาพูดและภาษาเขียนที่เรียกว่า “คำเมือง” ของภาคเหนือเอง โดยการพูดจะมีสำเนียงที่แตกต่างกันไปตามพื้นที่ ปัจจุบันยังคงใช้พูดติดต่อสื่อสารกัน
2.วัฒนธรรมการแต่งกาย การแต่งกายพื้นเมืองของภาคเหนือมีลักษณะแตกต่างกันไปตามเชื้อชาติของกลุ่มชนคนเมือง เนื่องจากผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งบ่งบอกเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นถิ่น
- หญิงชาวเหนือจะนุ่งผ้าซิ่น หรือผ้าถุง มีความยาวเกือบถึงตาตุ่ม ซึ่งนิยมนุ่งทั้งสาวและคนแก่ ผ้าถุงจะมีความประณีต งดงาม ตีนซิ่นจะมีลวดลายงดงาม ส่วนเสื้อจะเป็นเสื้อคอกลม มีสีสัน ลวดลายสวยงาม อาจห่มสไบทับ และเกล้าผม
- ผู้ชายนิยมนุ่งกางเกงขายาวลักษณะแบบกางเกงขายาวแบบ 3 ส่วน เรียกติดปากว่า “เตี่ยว” “เตี่ยวสะดอ” หรือ “เตี่ยวกี” ทำจากผ้าฝ้าย ย้อมสีน้ำเงินหรือสีดำ และสวมเสื้อผ้าฝ้ายคอกลมแขนสั้น แบบผ่าอก กระดุม 5 เม็ด สีน้ำเงินหรือสีดำ ที่เรียกว่า เสื้อม่อฮ่อม ชุดนี้ใส่เวลาทำงาน หรือคอจีนแขนยาว อาจมีผ้าคาดเอว ผ้าพาดบ่า และมีผ้าโพกศีรษะ
ชาวบ้านบางแห่งสวมเสื้อม่อฮ่อม นุ่งกางเกง สามส่วน และมีผ้าคาดเอว เครื่องประดับมักจะเป็นเครื่องเงินและเครื่องทอง
3.วัฒนธรรมการกิน ชาวเหนือมีวัฒนธรรมการกินคล้ายกับคนอีสาน คือ กินข้าวเหนียวและปลาร้า ซึ่งภาษาเหนือเรียกว่า “ข้าวนิ่ง” และ “ฮ้า” ส่วนกรรมวิธีการปรุงอาหารของภาคเหนือจะนิยมการต้ม ปิ้ง แกง หมก ไม่นิยมใช้น้ำมัน ส่วนอาหารขึ้นชื่อเรียกว่าถ้าได้ไปเที่ยวต้องไปลิ้มลอง ได้แก่ น้ำพริกหนุ่ม, น้ำพริกอ่อง, น้ำพริกน้ำปู, ไส้อั่ว, แกงโฮะ, แกงฮังเล, แคบหมู, ผักกาดจอ ลาบหมู, ลาบเนื้อ, จิ้นส้ม(แหนม), ข้าวซอย และขนมจีนน้ำเงี้ยว เป็นต้น
นอกจากนี้ชาวเหนือชอบกินหมากและอมเมี่ยง โดยนำใบเมียงที่เป็นส่วนใบอ่อนมาหมักให้มีรสเปรี้ยวอมฝาด เมื่อหมักได้ระยะเวลาที่ต้องการ จะนำใบเมี่ยงมาผสมเกลือเม็ด หรือน้ำตาล แล้วแต่ความชอบ ซึ่งนอกจากการอมเมี่ยงแล้ว คนล้านนาโบราณมีความนิยมสูบบุหรี่ที่มวนด้วยใบตองกล้วยมวนหนึ่งขนาดเท่านิ้วมือ และยาวเกือบคืบ ชาวบ้านเรียกจะเรียกบุหรี่ชนิดนี้ว่า ขี้โย หรือ บุหรี่ขี้โย ที่นิยมสูบกันมากอาจเนื่องมาจากอากาศหนาวเย็น เพื่อทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น
4.วัฒนธรรมที่เกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อ ชาวล้านนามีความผูกพันอยู่กับการนับถือผีซึ่งเชื่อว่ามีสิ่งเร้นลับให้ความคุ้มครองรักษาอยู่ ซึ่งสามารถพบเห็นได้จากการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น เมื่อเวลาที่ต้องเข้าป่าหรือต้องค้างพักแรมอยู่ในป่า จะนิยมบอกกล่าวและขออนุญาตเจ้าที่-เจ้าทางอยู่เสมอ และเมื่อเวลาที่กินข้าวในป่าจะแบ่งอาหารบางส่วนให้เจ้าที่อีกด้วย เช่นกัน ซึ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าวิถีชีวิตที่ยังคงผูกผันอยู่กับการนับถือผีสาง แบ่งประเภท ดังนี้
- ผีบรรพบุรุษ มีหน้าที่คุ้มครองเครือญาติและครอบครัว
- ผีอารักษ์ หรือผีเจ้าที่เจ้าทาง มีหน้าที่คุ้มครองบ้านเมืองและชุมชน
- ผีขุนน้ำ มีหน้าที่ให้น้ำแก่ไร่นา
- ผีฝาย มีหน้าที่คุ้มครองเมืองฝาย
- ผีสบน้ำ หรือผีปากน้ำ มีหน้าที่คุ้มครองบริเวณที่แม่น้ำสองสายมาบรรจบกัน
- ผีวิญญาณประจำข้าว เรียกว่า เจ้าแม่โพสพ
- ผีวิญญาณประจำแผ่นดิน เรียกว่า เจ้าแม่ธรณี
อย่างไรก็ตามคนล้านนามีความเชื่อในการเลี้ยงผีเป็นพิธีกรรมที่สำคัญ แม้ว่าการดำเนินชีวิตของจะราบรื่นไม่ประสบปัญหาใด แต่ก็ยังไม่ลืมบรรพบุรุษที่เคยช่วยเหลือให้มีชีวิตที่ปกติสุขมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ยังคงพบเรือน เล็ก ๆ หลังเก่าตั้งอยู่กลางหมู่บ้านเสมอ หรือเรียกว่า “หอเจ้าที่ประจำหมู่บ้าน” เมื่อเวลาเดินทางไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ ในชนบท ความเชื่อดังกล่าวจึงส่งผลให้ขนบธรรมเนียม ประเพณี และพิธีกรรมต่าง ๆ ของชาวเหนือ เช่น ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวเหนือ (พ่ออุ๊ย-แม่อุ๊ย) เมื่อไปวัดฟังธรรมก็จะประกอบพิธีเลี้ยงผี คือ จัดหาอาหารคาว-หวานเซ่น สังเวยผีปู่ย่าด้วย แม้ปัจจุบันในเขตตัวเมืองของภาคเหนือจะมีการนับถือผีที่อาจเปลี่ยนแปลงและเหลือน้อยลง แต่อย่างไรก็ตามชาวบ้านในชนบทยังคงมีการปฏิบัติกันอยู่
ประเพณีของภาคเหนือ
ภาคเหนือหรือล้านนา ดินแดนแห่งความหลากหลายทางประเพณีและวัฒนธรรมที่มีความน่าสนใจไม่น้อยไปกว่าภาคอื่นของไทย เพราะเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยเสน่ห์มนต์ขลัง ประเพณีของภาคเหนือที่น่าสนใจมีหลายประเพณี เช่น
1.แห่นางแมว
ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม เป็นช่วงของการเพาะปลูก หากปีใดฝนแล้งไม่มีน้ำ จะทำให้นาข้าวเสียหาย ชาวบ้านจึงพึ่งพาสิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น ทำพิธีขอฝนโดยการแห่นางแมว โดยมีความเชื่อกันว่าหากกระทำเช่นนั้นแล้วจะช่วยให้ฝนตก
2.ประเพณียี่เป็ง(วันเพ็ญเดือนยี่) หรืองานลอยกระทง
โดยจะมีงาน “ตามผางผะติ้ป” (จุดประทีป) ซึ่งชาวภาคเหนือตอนล่างจะเรียกประเพณีนี้ว่า “พิธีจองเปรียง” หรือ “ลอยโขมด” เป็นงานที่ขึ้นชื่อที่จังหวัดสุโขทัย
3.ประเพณีลอยโคม
ชาวล้านนาจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีความเชื่อใน การปล่อย โคมลอยซึ่งทำด้วยกระดาษสาติดบนโครงไม้ไผ่แล้วจุดตะเกียงไฟตรงกลางเพื่อให้ไอความร้อนพาโคมลอยขึ้นไปในอากาศเป็นการปล่อยเคราะห์ปล่อยโศกและเรื่องร้าย ๆ ต่าง ๆ ให้ไปพ้นจากตัว
4.ประเพณีตานตุง
ในภาษาถิ่นล้านนา ตุง หมายถึง “ธง” จุดประสงค์ของการทำตุงในล้านนาก็คือ การทำถวายเป็นพุทธบูชา ชาวล้านนาถือว่าเป็นการทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือถวายเพื่อเป็นปัจจัยส่งกุศลให้แก่ตนไปในชาติหน้า ด้วยความเชื่อที่ว่า เมื่อตายไปแล้วก็จะได้เกาะยึดชายตุงขึ้นสวรรค์พ้นจากขุมนรก วันที่ถวายตุงนั้นนิยมกระทำในวันพญาวันซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์
5.ประเพณีกรวยสลาก หรือตานก๋วยสลาก
เป็นประเพณีของชาวพุทธที่มีการทำบุญให้ทานรับพรจากพระ จะทำให้เกิดสิริมงคลแก่ตนและอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นการระลึกถึงบุญคุณของผู้มีพระคุณ และเป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีของคนในชุมชน
6.ประเพณีขึ้นขันดอกอินทขิล
เป็นประเพณีบูชาเสาหลักเมืองเชียงใหม่
7.ประเพณีทอดผ้าป่าแถว
เป็นวันที่พุทธศาสนิกชนจะได้ถวายเครื่องนุ่งห่มและไทยธรรม เป็นเครื่องบูชาแด่พระสงฆ์ก่อนจะทำพิธีลอยกระทงบูชาพระพุทธบาทตามคติความเชื่อแต่โบราณ กระทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 (วันลอยกระทง)
8.ประเพณีอู้สาว
คำว่า “อู้” เป็นภาษาไทยภาคเหนือแปลว่า “พุดกัน คุยกัน สนทนากัน สนทนากัน” ดังนั้น “อู้สาว” ก็คือ พูดกับสาว คุยกับสาว หรือแอ่วสาว การอู้สาวเป็นการพดคุยกันเป็นทำนองหรือเป็นกวีโวหาร
ยังมีประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคเหนือที่เรายังไม่รู้จักอีกมากมาย แอดได้รวบรวมข้อมูลและยกตัวอย่างมาเพียงเท่านี้ แล้วเราค่อยมาศึกษากันต่อในบทความถัดไป ผิดพลาดประการใด ทุกคนสามารถคอมเม้นบอกกล่าวได้ เราและทีมงานพร้อมจะได้นำไปปรับปรุงในภายหน้าจ้า
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Kapook